วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ในภาษาไทยเรามีคำที่ใช้เลียนเสียงสิ่งต่างๆ อยู่มากมาย ทั้งเสียงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อย่างเช่น เสียงน้ำตกไหลลงกระทบก้อนหินดัง "ซู่" หรือเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น คนตะโกนเสียงดัง "ว๊าก" หรือเสียงที่สัตว์สร้างขึ้น เช่น ไก่ขันดัง "เอ้กอี๊เอ้กเอ้ก" และเสียงที่เกิดจากสิ่งของต่างๆ อาทิ แก้วตกลงพื้นแตกเสียงดัง "เพล้ง" เป็นต้น

ในภาษาอังกฤษก็มีคำเลียนเสียงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน และก็มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่แพ้ในภาษาไทย ซึ่งเราจะพบได้บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาอ่านนิยายหรือการ์ตูน จะมีคำเลียนเสียงเหล่านี้แทรกขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา เล่นเอางงอยู่เหมือนกันว่าไอ้คำนี้มันคือเสียงอะไร ต้องเปิดพจนานุกรมหาความหมายกันให้วุ่นวาย
"Onomatopoeia" (มาจากภาษากรีกว่า ὀνοματοποιία) แปลว่า "การสร้างคำเลียนเสียง" คือการที่มนุษย์เราสร้างคำขึ้นเลียนเสียงต่างๆ เพื่อใช้ในการสื่อสารหรืออธิบายสิ่งต่างๆ ให้สะดวกและเข้าใจกันได้มากขึ้น คำ onomatopoeia เหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก เราลองมาดูกันว่ามีคำไหนที่เราพบอยู่บ่อยๆ และถ้าเอามาเทียบกับคำเลียนเสียงในภาษาไทยเราแล้วจะตรงกับคำว่าอะไร ยกตัวอย่างเช่น

◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊

เสียงที่มนุษย์สร้างขึ้น

"Ho-hum" (อ่านว่า "โฮ-ฮัม")  

ฝรั่งจะร้อง "โฮ-ฮัม" เมื่อรู้ว่าต้องเอางานกลับมาแก้ไขใหม่ทั้งหมด ส่วนคนไทยจะร้อง "ฮ้า" ซึ่งก็คือคำอุทานด้วยความเบื่อต่อสิ่งไม่น่ารื่นรมย์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง


I like to ho-hum as I do the cleaning around the house.
(ฉันอยากจะร้องฮ้า! เมื่อฉันต้องทำความสะอาดรอบบ้าน)

"Boo" (อ่านว่า "บู")  

เสียงนี้ก็คือเสียงโห่ไล่เวลาที่เราไม่พอใจ เหมือนกับเวลาที่เราเจอนักการเมืองขี้โกงเดินอยู่ในตลาด เราก็จะตะโกนไล่เสียงดัง "โห่"
The crowd booed the politician to show their displeasure.
(ฝูงชนตะโกนโห่ไล่นักการเมืองที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจ)

"Howl" (อ่านว่า "เฮาล")  

เวลาที่เราได้รับอุบัติเหตุ เราก็จะอุทานออกมาด้วยความเจ็บปวดและตกใจว่า "โอ๊ย" แต่ฝรั่งจะร้องว่า "เฮาล" ถ้าอยากจะโกอินเตอร์ให้หัดอุทานว่า "เฮาล" แบบฝรั่งไว้ แต่ระวังเพื่อนจะหมั่นไส้มากกว่าสงสาร
Sarah howled in pain when she stubbed her toe on the door.
(ซาร่าห์ร้องดังโอ๊ย! เมื่อนิ้วเท้าของเธอไปเตะเข้ากับประตู)

"Screech" (อ่านว่า "ซครีช")  

เป็นเสียงแหลม สูง ดัง ที่ฟังแล้วแสบแก้วหู เกิดจากคนหวีดร้องก็ได้เช่น "กรี๊ด" หรือเกิดจากการเสียดสีก็ได้ เช่น "เอี๊ยด"
She was screeching with pain.
(เธอร้องกรี๊ดขึ้นมาด้วยความเจ็บปวด)

"Grind" (อ่านว่า "ไกรนด")  

มันคือเสียงดัง "กร๊อด" ที่เกิดขึ้นตอนเรากัดฟัน
She grinds her teeth in her sleep.
(เธอกัดฟันดังกร๊อดๆ เวลานอนหลับ)

"Crunch" (อ่านว่า "ครันช")  

เป็นเสียงเคี้ยวของกรอบๆ อย่างเพลิดเพลิน เช่นเคี้ยวมันฝรั่งทอดเสียงดัง "กร้วมๆ" แต่บางครั้งก็ใช้กับเสียงของแข็งบางอย่างที่กำลังกระทบกันหรือกำลังจะแตก ที่คนไทยออกเสียงว่า "กร๊อบ"
She was crunching noisily on an apple.
(เธอเคี้ยวแอปเปิลเสียงดังกร้วมๆ)
The icy snow crunched underneath my feet as I walked across the field.
(แผ่นน้ำแข็งใต้เท้าฉันมีเสียงดังกร๊อบ ตอนที่ฉันเดินข้ามมา)

"Puff" (อ่านวา "พัฟ")  

คือเสียงหอบ "แฮกๆ" เวลาเหนื่อย
I stood puffing hard after the two mile run.
(ฉันยืนหอบแฮกๆ หลังจากวิ่งมา 2 ไมล์)

"Knock" (อ่านว่า "น็อค")  

เวลาเราเคาะประตูหรือเคาะโต๊ะจะมีเสียงดัง "ก๊อก" แต่ฝรั่งบอกว่ามันดัง "น็อค"
There was a knock at the door.
(มีเสียงก๊อกๆ อยู่ที่ประตู)

"Ring" (อ่านว่า "ริง")  

เสียงดัง "กริ๊ง" ที่เกิดจากกริ่ง หรือนาฬิกาปลุก หรือโทรศัพท์
There was a ring at the phone.
(มีเสียงกริ๊งๆ ที่โทรศัพท์)
◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊

เสียงที่สัตว์สร้างขึ้น

"Buzz" (อ่านว่า "บัซซ์")  

คือเสียงที่เกิดจากปีกของผึ้งเวลามันบินไปไหนมาไหน โดยเฉพาะเวลาที่บินมาใกล้ๆ หูเรานี่จะได้ยินอย่างชัดเจน ถ้าคนไทยเราก็จะออกเสียงนี้ว่า "หึ่ง"
Bees buzz as they fly about collecting pollen.
(ผึ้งส่งเสียงหึ่งๆ เมื่อมันบินไปเก็บน้ำหวานจากเกสรดอกไม้)

"Whimper" (อ่านว่า "ฮวีมเพอะ")  

เป็นเรื่องน่าฉงนมากที่ฝรั่งฟังเสียงหมาคราง "หงิงๆ" ด้วยความเจ็บปวดหรือเสียใจ ออกมาเป็น "ฮวีมเพอะ" (มันเหมือนตรงไหน?)
The dog whimpered because it missed its owner.
(หมาครางหงิงๆ เพราะมันคิดถึงเจ้าของ)

"Chirp" (อ่านว่า "เชิพ")  

เป็นเสียงนกร้อง เหมือนที่คนไทยเราคุ้นกันดีกับคำว่า "จิ๊บๆ"
The little songbird chirped happily from the bush.
(นกร้องเพลงตัวน้อยส่งเสียงจิ๊บๆ อย่างมีความสุขมาจากพุ่มไม้)

"Cock-a-doodle-doo" (อ่านว่า "ค๊อกอะดูเดิลดู")  

ตอนเช้าๆ ไก่ไทยตัวผู้จะขันปลุกชาวบ้านเสียงดัง "เอ้กอี๊เอ้กเอ้ก" แต่ไก่ฝรั่งขันเสียงแปลกๆ ว่า "ค๊อกอะดูเดิลดู"

"Neigh" (อ่านว่า "เน")  

ม้าไทยร้อง "ฮี้" ม้าฝรั่งร้อง "เน"
The horse neighed as it came to a stop.
(ม้าร้องฮี้เมื่อมันวิ่งมาและหยุดลง)

"Squeak" (อ่านว่า "ซควีค")  

เสียงเล็กๆ แหลมๆ ที่เกิดจากการร้องของหนู ในภาษาไทยเรามักใช้ว่า "จี๊ดๆ"
The little mouse squeaked as it looked for food throughout the house.
(หนูตัวน้อยร้องจี๊ดๆ ตอนมันค้นหาอาหารไปทั่วบ้าน)

"Moo" (อ่านว่า "มู")  

เป็นเสียงวัวร้อง วัวไทยร้อง "มอ" วัวฝรั่งร้อง "มู"
The cow mooed loudly as it tried to scare the men walking through the field.
(วัวร้องเสียงมอดังลั่นเพื่อขู่ให้คนที่กำลังเดินผ่านสนามนั้นกลัว)

"Hiss" (อ่านว่า "ฮิซ")  

คือเสียงขู่ "ฟ่อ" ของงู หรือเสียง "ซี่" ที่ลากออกยาวๆ ตามไรฟันเมื่อกัดฟันไว้
The snake hissed at the hiker to warn him away.
(งูขู่ฟ่อไปที่นักเดินทางเพื่อขู่ให้เขาหนีไป)

"Woof-Woof" (อ่านว่า "วูฟ-วูฟ")  

คือเสียงเห่าของหมาฝรั่ง แต่หมาไทยเราเห่าว่า "โฮ่ง-โฮ่ง"

"Miaow" (อ่านว่า "มีอาว")  

แมวฝรั่งกับแมวไทยน่าจะร้องภาษาเดียวกัน แต่คนละสำเนียง คือ "มีอาว" กับ "เมี๊ยว"
A cat was miaowing pitifully outside the door.
(แมวร้องเมี๊ยวๆ อย่างน่าสงสารอยู่นอกประตู)

"Quack" (อ่านว่า "คแว็ค")  

เป็ดฝรั่งที่พูดไม่ได้แบบโดนัลดั๊กส์จะร้องเสียง "คแว็คๆ" ส่วนเป็ดไทยร้อง "ก้าบๆ"
The ducks started quacking loudly when we threw them some bread.
(เป็ดเริ่มร้องก้าบๆ อย่างดังเมื่อเราโยนอาหารให้มัน)
◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊

เสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติหรือสิ่งของ

"Sizzle" (อ่านว่า "ซิสซึ่ล")  

เทียบกับในภาษาไทยแล้วก็คือเสียงดัง "แฉ่" หรือ "ฉ่า" ที่เกิดขึ้นเวลาเราเอาเนื้อลงไปทอดในกะทะร้อนๆ ทั้งเสียงทั้งน้ำมันกระเด็นมากันให้เต็มไปหมด คำนี้ถูกนำไปดัดแปลงใช้เป็นชื่อร้านสเต๊กที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ก็คือร้าน "Sizzler" (อ่านว่า "ซิส-เลอร์) ซึ่งแปลว่าผู้ทำให้เกิดเสียงฉ่าๆ นั่นเอง
The sausages are sizzling in the pan.
(เสียงไส้กรอกดังฉ่าๆ อยู่บนกะทะ)

"Whoosh" (อ่านว่า "วูช")  

คือเสียงอากาศที่ถูกบางสิ่งเคลื่อนผ่านด้วยความเร็วสูง ในภาษาไทยเราจะใช้คำว่า "ฟิ้ว" หรือ "ฟู่"
The train sped through the station with a whoosh.
(รถไฟพุ่งด้วยความเร็วผ่านสถานีไปเสียงดังฟิ้ว)

"Whirr" (อ่านว่า "ฮเวอ")  

มักใช้แทนเสียงของเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ที่กำลังทำงาน เป็นเสียงร้องดัง "อือ" เสียงต่ำๆ เบาๆ แต่ต่อเนื่องยาวนาน
I could hear the washing machine whirring in the kitchen.
(ฉันได้ยินเสียงเครื่องล้างจานร้องดังอือๆ อยู่ในครัว)

"Gurgle" (อ่านว่า "เกอกึล")  

ถ้าเทียบกับในภาษาไทยมักจะใช้คำนี้เป็น 2 กรณีคือ เสียงน้ำไหลดัง "โกรกกราก" กับเสียงเด็กทารกร้อง "เอิ๊กอ๊าก" อย่างชอบอกชอบใจ
Outside of her window the stream gurgled over the rocks.
(นอกหน้าต่างของเธอมีเสียงลำธารไหลไปหินดังโกรกกราก)
The baby lay gurgling in her cot.
(เด็กน้อยนอนหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอยู่บนเปลของเธอ)

"Rattle" (อ่านว่า "แรททึ่ล")  
เป็นเสียงดังจากการเคาะหรือทุบอะไรติดต่อกันหลายๆ ครั้ง ดังคล้ายกับเสียง "ตึงตึงตึง" หรือเป็นเสียงดัง "พรืด" ยาวๆ จากการรัวปืนและการกรนเวลานอน
From across the town came the rattle of machine-gun fire.
(เสียงปืนกลรัวดังพรืดมาจากอีกฝั่งหนึ่งของเมือง)

"Splash" (อ่านว่า "ซแพลช")  

เสียงที่เกิดขึ้นเมื่อมีอะไรตกใส่น้ำ เทียบได้กับคำในภาษาไทยว่า "ตู้ม"
Tom splashed loudly when he jumped into the swimming pool.
(ทอมทำเสียงดังตู้มเมื่อเขาโดดลงในสระว่ายน้ำ)

"Ping" (อ่านว่า "พิง")  

คือเสียงดัง "ติ๊ง" หรือ "กิ๊ง" เช่นเสียงเวลาที่เครื่องยนต์ทำงาน หรือเสียงสัญญาณเตือนอะไรบางอย่าง
The modem pinged as it connected to the network.
(โมเด็มส่งเสียงดังติ๊งเมื่อมันต่อเข้ากับระบบเครือข่ายได้)

"Clatter" (อ่านว่า "คแลทเทอะ")  

เป็นเสียงดัง "โคล้งเคล้ง" เมื่อวัตถุกระทบกันอย่างต่อเนื่อง
The dishes clattered in the kitchen while he cleaned up after dinner.
(จานชนกันดังโคล้งเคล้งอยู่ในครัวขณะกำลังถูกล้าง หลังกินอาหารมื้อเย็น)

"Thud" (อ่านว่า "ธัด")  

คือเสียงที่เกิดขึ้นจากของหนักหล่นลงพื้นหรือลงใส่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหมือนกับเสียงดัง "ผลุ" หรือ "ตุ๊บ"
The book dropped onto the floor with a loud thud.
(หนังสือหล่นลงบนพื้นดังตุ๊บ)

"Tinkle" (อ่านว่า "ทิงคึ่ล")  

คือเสียงสั่นกระดิ่ง สายโซ่ หรือเสียงกระทบกันของวัตถุดัง "กิ๊ง"
The crystal glass tinkled lightly when I toasted with my wife.
(แก้วคริสตัลกระทบกันดังกิ๊กเบาๆ เมื่อฉันดื่มอวยพรให้กับภรรยา)

"Clang" (อ่านว่า "คแล็ง")  

เป็นเสียงกระทบกันของโลหะดัง "เคล้ง"
Could you please be quiet? Your clanging those pots and pans and it's driving me crazy!
(กรุณาเงียบๆ หน่อยจะได้ไหม เสียงเคล้งของหม้อกะทะของคุณ มันจะทำให้ผมบ้าอยู่แล้ว)